ศาลเจ้ามณีธรรม(เวียดนาม) อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม
จากการสืบค้น เมื่อฝรั่งเศสสถาปนาตัวแทนขึ้นปกครอง ด้วยเป้าหมายเพื่อครอบครองเวียดนาม
ปี ค.ศ.1858(พ.ศ.๒๔๐๑) เสียงปืนนัดแรกของฝรั่งเศสเปิดฉากขึ้นที่เมืองดานัง โดยการนำกำลังพลหมายยึดครองเวียดนาม ตามมาด้วยการต่อสู้แบบไม่ย่อท้อของชาวเวียดนามผู้รักชาติ มีการก่อตั้งขบวนการเพื่อทวงคืนเอกราชเกิดขึ้นทั่วแผ่นดินเวียดนามและการปราบปรามอย่างหนักของฝรั่งเศสผู้รุกราน
ในปี พ.ศ.1895(พ.ศ.๒๔๓๘) กลุ่มนักรบปลดแอกการยึดครองของฝรั่งเศสหนีการไล่ล่า เพื่อรวบรวมกำลังพลแบ่งเป็นหลายสาย การซอยเพื่อหนีการปราบปราม แล้วร่วมกันต่อสู้เพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ การปลดแอกทวงคืนเอกราชจากฝรั่งเศสที่เข้ามารุกรานยึดครองกดขี่ข่มเหงประชาชนชาวเวียดนาม ตลอดทางต้องหลบหนีการไล่ล่าจากทหารฝรั่งเศสที่ต้องการกำจัดขบวนการรักชาติให้หมดไป
ขบวนการรักชาติเวียดนามต้องแตกแยกเป็นหลายสาย เพื่อยากต่อการติดตามไล่ล่า ส่วนหนึ่งปักหลักที่ประเทศลาว อีกส่วนหนึ่งข้ามโขงมาปักหลักอาศัยอาศัยบนผืนแผ่นดินไทย เพื่อเตรียมความพร้อมรวบรวมทั้งกำลังพล ทั้งปัจจัย เพื่อสนับสนุนขบวนการที่ต่อสู้ในประเทศ เพื่อกอบกู้อิสรภาพ ประมาณปี ค.ศ.1896 (พ.ศ.๒๔๓๙) ท่านเหล่านั้นได้ปรึกษาหารือกันที่จะสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนเป็นที่พบปะเพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสารสร้างความรักความสามัคคี โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การกอบกู้เอกราช
ตลอดเวลาที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินโพธิสมภารแห่งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยและความร่วมมือช่วยเหลือนี้ได้จารึกด้วยหลักฐานการร่วมก่อสร้างองค์พระธาตุท่าอุเทนที่มีนักบุญแห่งลุ่มแม่น้ำโขงนามหลวงปู่สีทัตถ์ ญาณสัมปันโนเป็นผู้หลอมรวมทุกดวงใจพุทธศาสนิกชนในการร่วมมือก่อสร้าง ทั้งยังมีลวดลายสถาปัตยกรรมของเวียดนามที่ยังคงดำรงอยู่ในหลายๆที่วัดกลาง อำเภอท่าอุเทนเป็นประจักษ์พยาน
การก่อสร้างศาลเจ้า ดึ๊ก ก่วน ด่าย เวือง ตามการสืบค้นมีขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1896(พ.ศ.๒๔๓๙) โดยประมาณ เริ่มแรกศาลเจ้ามณีธรรมมีการก่อสร้างกันตามมีตามเกิด เป็นแบบผนังขัดไม้ไผ่โบกด้วยดิน หลังคามุงแฝก และมีการก่อสร้างตามมาในครั้งที่สองให้เหมาะกับการใช้สอยและประกอบกิจของจำนวนสมาชิก แต่สิ่งที่สำคัญและปรากฏร่องรอยแห่งความเจริญทางด้านวัฒนธรรมคือการก่อสร้างครั้งที่ ๓ เมื่อปี ค.ศ.1926(พ.ศ.๒๔๖๙) การก่อสร้างหอไหว้ด้วยภูมิปัญญา ก่ออิฐถือปูนศาลาไม้ยกสูง ๘๗ ปีผ่านไปพร้อมกาลเวลา คือ ความทรุดโทรม ศาลาก็ผุพังตามกาลเวลา คณะกรรมการฯและชุมชนมีมติให้ก่อสร้างบูรณะ เพื่อคงไว้แห่งคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทำให้วันนี้หอไหว้ศาลเจ้าองค์เดิมได้รับการอนุรักษ์ทำนุบำรุงไปพร้อมกับการก่อสร้างศาลเจ้าองค์ใหม่ โดยได้รับการช่วยเหลือร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งจากทางอำเภอ ทางเทศบาล พ่อแม่พี่น้องประชาชนจากทั่วทุกสารทิศ และอดกล่าวถึงไม่ได้ในที่นี้ คือ ท่านพระครูพิพัฒน์สิริโพธิ ท่านเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอท่าอุเทนที่เป็นหัวใจเชื่อมโยงให้ทุกองคาพยพได้หล่อหลอมรวมใจเป็นหนึ่งเดียว จนการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.2014(พ.ศ.๒๔๕๗) รวมเวลาก่อสร้าง ๒ ปี ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมของเวียดนามอย่างแท้จริง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีการนำเข้าวัสดุหลายอย่างจากเวียดนาม เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ทีมช่างตระกูลเวียดนาม ระฆัง รวมทั้งสิ่งของประดับประดา ทำให้เกิดมนต์ขลัง โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งทางการเวียดนาม-ไทย-ลาว นี่นับเป็นความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่และจะดำรงคงอยู่คู่กาลเวลา
ที่มาข้อมูล จาก คุณเจริญ ตันมหาพราน